สุขภาพดีแค่มี Wellness ได้ยินบ่อยแล้ว มันคืออะไรกันแน่นะ?
Cozxy

สุขภาพดีแค่มี Wellness ได้ยินบ่อยแล้ว มันคืออะไรกันแน่นะ?

โดย Cozxy
15 ก.ค. 2022

ถ้าพูดถึงคำว่า สุขภาพดี หลายคนอาจโฟกัสกับการมองรูปร่างภายนอกเป็นอันดับแรก ต้องหุ่นดี มีความแข็งแรง มีกล้ามเนื้อ น้ำหนักตัวได้สัดส่วน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือ เป็นคนดูสดใสไม่มีโรคอะไรเลย ซึ่งการมีความเชื่อแบบนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะทุกคนต้องมองจากรูปกายก่อนอยู่แล้ว จึงตัดสินว่าคนนั้น คนนี้มีสุขภาพดีได้ แต่ถ้ามองอีกแง่มุมที่มากกว่ารูปร่าง มันยังมีปัจจัยอีกหลายอย่าง ที่ให้คำจำกัดความของคำว่าสุขภาพดี ในที่นี้ เรียกว่า “Wellness”

คำนี้อาจจะเคยได้ยินกันอยู่บ่อยครั้ง แล้วความหมายที่แท้จริงมันคืออะไร? ทำไมต้องสุขภาพดีแบบมี Wellness ที่ดี เรามาหาคำตอบกัน

Wellness คืออะไร?

คำว่า Wellness มีหลายความหมายมากในแต่ที่จะให้คำจำกัดความต่างกัน แต่โดยองค์รวมความหมายแบบเดียวกัน นั่นคือ สุขภาพดี ที่มีมากกว่าสุขภาพทางกาย (Physical Wellbeing) ซึ่งรวมไปถึงสุขภาวะที่ดีรอบๆ ด้านด้วย ไม่ว่าจะเป็น สุขภาวะทางจิต (Mental Wellbeing) สุขภาวะทางสังคม (Social Wellbeing) สุขภาวะทางปัญญา (Intellectual well-being) และสุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual well-being) ทุกอย่างคือสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นให้เกิดความเป็นอยู่ในชีวิตที่ดี นำไปสู่การมีสุขภาพแห่งความสุขในทุกมิติ

สถาบัน Global Wellness Institute ให้คำจำกัดความของสุขภาพ ว่าคือการแสวงหากิจกรรม ทางเลือก และรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างกระตือรือร้น ที่นำไปสู่สภาวะของสุขภาพแบบองค์รวม นั่นหมายความว่า สุขภาพดี ไม่ได้ดีแบบนิ่งเฉย โดยไม่ทำอะไร ทุกอย่างต้องมีการมุ่งมั่น แสวงหาที่จะทำอย่างตั้งใจ และต้องใช้ความคิดในเชิงบวก เพื่อเป็นทางเลือกในการกำหนดสุขภาพ พฤติกรรม และวิถีชีวิตที่ดำรงในสังคม มีการปรับตัวเองให้อยู่ในทิศทางที่พอดี เหมาะสม เพื่อค้นหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในทุกองค์ประกอบ และเป้าลุเป้าหมายของการมีสุขภาพดีในที่สุด

ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ จากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ได้พูดถึง Wellness เป็นนิยามของ “Good health and Well-being” คือ เป้าหมายที่ 3 ของการมีสุขภาพดี ‘Well-being’ ไม่มีคำนิยามที่เป็นสากล เป็นคำที่มีความหมายเชิงบวกของการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม ไม่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยโรคโดยหมอ เรียกอีกนัยหนึ่งคือ ความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามปฏิรูประบบสุขภาพ ที่มีการใช้คำว่า ‘สุขภาวะ’ สื่อสารแทนคำว่าสุขภาพดีมากขึ้น โดยสุขภาพดีต้องพิจารณาเชื่อมโยงสุขภาพกาย จิตใจ สังคม และปัญญา ไม่จำกัดเฉพาะเฉพาะเรื่องสุขภาพทางกายหรือไม่เจ็บป่วย และเมื่อจะไปถึง “Good health Well-being” ได้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ช่วยเสริมสร้างสุขภาพโดยการป้องกัน การบริการที่ดี และดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง รวมทั้งสวัสดิการต่างๆ ซึ่งนำสุขภาวะทางจิต และสังคมให้ดีขึ้นด้วย คุณภาพชีวิตที่ดี จะทำให้การใช้ชีวิตมีสุขภาพดีตามมา

จะมีสุขภาพที่ดีด้วย Wellness ได้อย่างไรบ้าง?

เมื่อเราเข้าใจความหมายของ Wellness แล้ว บางทีมันอาจจะค่อนข้างซับซ้อน และเชิงลึกมากไป แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าจะมีสุขภาพดีแบบ Wellness ได้ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเรารู้ว่าของสุขภาวะองค์รวมทั้งหมดของ Wellness ดังนี้

สุขภาวะทางกาย (Physical Wellbeing) ปัจจัยแรก ที่ทำให้รู้สึกสุขภาพดี คือการมีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง คล่องแคล่ว ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่พิการ มีกำลังดี เกิดจากการรู้จักขอบเขตของร่างกายเรา และค่อยๆ สร้างนิสัยเพิ่มความแข็งแรงให้เป็นส่วนนึงของกิจวัตรประจำวันยิ่งขึ้น หากคุณไม่ได้มีร่างกายที่ฟิตหรือกล้ามเนื้อมากนัก คุณสามารถเริ่มต้นจากการแบ่งเวลาในการขยับร่างกาย เดินระหว่างวัน ยืดเป็นประจำ เพื่อเพิ่ม movement ก็ทำได้ หรืออาจเป็นการยกเวทเพิ่มกล้ามเนื้อส่วนที่ขาดความแข็งแรง ล้วนแต่เป็นสิ่งที่จะช่วยให้คุณมีร่างกายที่แข็งแรงขึ้นในระยะยาว

สุขภาวะทางจิต (Mental Wellbeing) สุขภาพจะดีได้ ถ้าเลือกที่จะไม่เครียด ไม่วิตกกังวล รู้จักที่จะจัดการความรู้สึก ความคิดที่แปรเปลี่ยน และมีความพึงพอใจในชีวิต รวมไปถึงการสามารถควบคุมสภาวะอารมณ์ได้ การรับรู้ ยอมรับ เข้าใจความรู้สึกผู้อื่น ชีวิตจะเป็นสุขมากขึ้น

สุขภาวะทางสังคม (Social Wellbeing) ใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้ มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง มีครอบครัวหรือที่พพึ่งที่ให้ความอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมมีความยุติธรรม มีความเสมอไม่มีความเหลื่อมล้ำในสังคม มีสันติภาพ เข้าถึงสวัสดิการที่ดีได้ง่าย ระบบบริการสาธารณะที่ดีทุกด้าน

สุขภาวะทางปัญญา (Intellectual well-being) ด้านนี้เป็นการเพิ่มทักษะชีวิต การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เปิดโลกให้กว้างขึ้น รับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเสริมสร้างความสามารถของตัวเอง เพื่อนำโอกาสดีๆ ในชีวิตเข้ามา

สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual well-being) การรู้ผิดชอบชั่วดี การไม่ยึดถือตัวตน การเข้าใจและเท่าทันความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ซึ่งจะทำให้มนุษย์มีสติ และมีความสมบูรณ์แบบของความเป็นคนมากขึ้น

สุขภาพดี เริ่มได้ทุกเวลา

สุขภาพดี ป้องกันได้ตั้งแต่ต้นทาง

หากเราอยากมีสุขภาพดีแบบ Wellness เราต้องรู้จักป้องกันตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งในทางการแพทย์เรียกว่า เวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Medicine) เป็นแขนงหนึ่งของการแพทย์คู่กับการรักษาพยาบาล (Curative Medicine) โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันการเจ็บป่วยที่ต้นเหตุ เช่น ถ้าเรารู้ว่า การไปอยู่ในที่ผู้คนแออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก แล้วเราไม่ใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน หรือ ไม่ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ ก็มีสิทธิ์ที่จะรับเชื้อโควิด 19 เข้ามาได้ ดังนั้นแก้ที่ต้นเหตุ ใส่หน้ากากอนามัยให้เรียบร้อยเมื่อไปที่ชุมนุมชน คนเยอะๆ ก็จะเป็นการป้องกันตัวเองได้ดี หรือ ถ้าเรารู้ว่า น้ำหนักตัวเยอะเกิน จนเกิดความเครียดเสี่ยงต่อโรคร้ายต่างๆ ในอนาคต เราก็ต้องใส่ใจเลือกอาหารการกิน ลดการทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ และหันมาขยับร่างกายเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

พูดง่ายๆ เลยว่า สุขภาพดีแบบ Wellness คุณสร้างมันได้ ถ้ารู้จักแก้ไขปัญหา จัดการที่ต้นเหตุ ตั้งแต่ยังไม่เริ่มเจ็บป่วย สุขภาพที่ดี ทั้งกายและใจ ก็จะเกิดขึ้นได้ทุกวัน แปลว่าไม่ว่าจะเวลาไหน ก็เป็นเวลาเริ่มต้นการดูแลสุขภาพที่ดีทั้งนั้น เพราะเราไม่ได้อยากมีชีวิตที่แข็งแรงหลังการเจ็บป่วย แต่เป็นชีวิตที่เราดูแลให้แข็งแรงไปเรื่อยๆ

สุดท้ายนี้ การมี health & wellness ที่ดีของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เราสามารถกำหนดความพอดี และหาสมดุลของตนเอง ได้ ไม่ใช่เป้าหมาย หรือ New Year Resolution ที่จะสามารถกำหนดเป็นตัวเลข แต่เป็นเส้นทางการค้นพบที่ทำได้ตลอดชีวิต ซึ่งต้องเกิดจากความเข้าใจในพื้นฐานของการมีสุขภาพดี ที่มากกว่าแค่ความแข็งแรง หรือการออกกำลังกายอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงเป็นสิ่งที่คุณสามารถลองผิดลองถูกได้และสนุกกับมันได้เรื่อยๆ

ข้อมูลอ้างอิง
https://globalwellnessinstitute.org/what-is-wellness/
https://www.sdgmove.com/2021/01/25/sdg-updates-good-health-and-well-being/
https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/protect-my-family/wellness.html

รับข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพจากเราก่อนใครพร้อมโปรโมชั่น ส่วนลด กิจกรรมต่างๆ กรอกอีเมลเลย
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อการปรับปรุงการใช้บริการออนไลน์ของท่าน โดยเราจะใช้คุกกี้เมื่อท่านเข้ามาหน้าเว็บไซต์. ดูรายละเอียด